ภาวนา แปลว่า การเจริญ การอบรม การทำให้มีให้เป็นขึ้น หมายถึง การทำจิตใจให้สงบและทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตไปตามแบบที่ท่านกำหนดไว้ ซึ่งเรียกชื่อไปต่างๆ เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตภาวนา
ภาวนา ในทางปฏิบัติท่านแบ่งไว้ ๒ แบบใหญ่ๆ คือ
1. สมถภาวนา การอบรมจิตใจให้สงบ ซึ่งได้แก่สมถกรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า จิตภาวนา ก็ได้
2.วิปัสสนาภาวนา การอบรมปัญญาให้เกิด ซึ่งได้แก่วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา ก็ได้
ภาวนา เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่าภาวนามัย คือบุญที่เกิดจากการภาวนา
การทำบุญที่สั้นที่สุดในบุญกิริยาวัตถุระบุไว้สามประการคือทาน ศีลและ ภาวนา ในวันนี้จะได้กล่าวถึงการภาวนา ซึ่งแปลตามตัวอักษรภาษาบาลีว่า การทำให้มี การทำให้เป็น การทำให้เกิด การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา ดังนั้นบุญที่เกิดจากการภาวนาจึงเกิดจากภายในตัวเราเอง เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาทั้งภายนอกและภายใน
ภาวนานั้นท่านแสดงไว้สี่ประการดังที่ปรากฎในอังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต(22/79/121) ประกอบด้วย
1. กายภาวนา หมายถึงการเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ,การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
2. สีลภาวนา หมายถึงการเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน
3. จิตภาวนา หมายถึงการเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น
4. ปัญญาภาวนา หมายถึงการเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา
ในพระไตรปิฎกท่านแสดงภาวนาสี่ประการนี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์
เรื่องของการภาวนานับเป็นยอดบุญกุศลอย่างหนึ่งท่านแสดงไว้จำนวนมาก ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/233/177)ได้กล่าวถึงสมาธิภาวนาไว้สี่อย่างความว่า “ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายมีอยู่
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลายภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา ที่สติอยู่เป็นสุข
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม
การภาวนาจึงทำให้ผู้บำเพ็ญบรรลุคุณธรรมตามลำดับจากฌานจนถึงสิ้นอาสวะได้ วิธีการในการเจริญภาวนานั้นมีปรากฎในมหาสัจจกสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/406/310) ครั้งหนึ่งสัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าว่า “พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตภาวนาไม่ สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสบทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกาย พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกายกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอันร้อนจักพลุ่งออกจากปากบ้าง (พวกที่บำเพ็ญกายภาวนานั้น) จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง จิตอันหันไปตามกายของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย นั่นเป็นเพราะอะไร
พระพุทธเจ้าตอบว่า “เป็นเพราะไม่อบรมจิต”
สัจจกนิครนถ์ถามต่อไปว่า "พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่ สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสพทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นในจิต พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นในจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้าง หทัยจะแตกบ้าง เลือดอันร้อนจัดพลุ่งออกจากปาก (พวกที่บำเพ็ญจิตตภาวนานั้น)จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง กายอันหันไปตาม จิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต นั่นเป็นเพราะอะไร
พระพุทธเจ้าตอบว่า “เป็นเพราะไม่อบรมกาย”
ดังนั้นการเจริญภาวนาจึงต้องกระทำทั้งกายภาวนาและจิตตภาวนาไปพร้อมๆกัน จึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ครังหนึ่งพระพุทธเจ้าได้แนะนำให้พระราหุลเจริญภาวนาหกประการดังที่ปรากฎในมหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/145/114) ความว่า “ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่จักละพยาบาทได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้ เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้ เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้
การเจริญเมตตาภาวนาทำให้ละพยาบาทได้ ในเมตตาสูตร อังคุตรนิกาย เอกาทสกนิบาต (24/222/316) แสดงอานิสงส์การการเจริญเมตตาไว้ถึง 11 ปรการ ความว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับสั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการ คือ
1.ย่อมหลับเป็นสุข
2.ย่อมตื่นเป็นสุข
3.ย่อมไม่ฝันลามก
4.ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ฅ
5. ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
6. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
7. ไฟ ยาพิษหรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้
8.จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว
9. สีหน้าย่อมผ่องใส
10. เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ
11. เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้งให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการนี้แล
สมัยที่ควรเจริญภาวนาทางใจพระพุทธเจ้าแสดงไว้ในสมยสูตรอังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต(22/298/290)พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่งที่เข้าไปถามความว่า " ดูกรภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจมีหกประการนี้คือมีใจถูกกามราคะกลุ้มรุมครอบงำอยู่ ถูกพยาบาทครอบงำ ถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละนิวรณ์ จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำ นี่แลคือการเจริญภาวนาทางใจ
เรื่องของภาวนานั้นย่อมได้ผลตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติจากเบื้องต้น จนกระทั่งทำให้บรรลุพระอรหันต์ก็ได้ ภาวนาจึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของการทำบุญและเป็นทางที่นำไปสู่อมตมหานิพพานได้ในที่สุด บุญที่เกิดจากการภาวนาจึงนับว่าเป็นบุญขั้นสูงที่สุดในพระพุทธศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น