นรกภูมิ

นรกภูมิ


คือ สถานที่จองจำผู้ที่กระทำบาปสถานหนัก ต้องชดใช้บาปจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ โดยอาศัยร่างที่เป็นกายหยาบรับโทษ เช่น ถูกเลื่อยกาย ถูกหั่นร่างเป็นชิ้น ๆ ถูกไฟครอก ถูกตำด้วยสาก ถูกโยนใส่กระทะน้ำเดือด ปีนต้นงิ้ว เป็นต้น
มนุษย์เมื่อตายไป มิใช่ว่าจะถูกยมทูตพาไปพบพระยายมราช เพื่อตัดสิน ไต่ถามก่อนการรับโทษในนรกทุกคนไป เป็นเฉพาะบางคนบางพวกเท่านั้น คือ
โดยปกติแล้วคนเราในโลกที่เห็นกันอยู่นี้ มีนิสัย จิตใจ และความประพฤติดีเลว แตกต่างกันออกไป พอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ


พวกที่ ๑ ชอบใจในการบำเพ็ญกุศลมาก
พวกที่ ๒ ชอบทั้งกุศลและอกุศลปนกันไป ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
พวกที่ ๓ ชอบทางอกุศลมากกว่ากุศล
พวกที่ ๔ ชอบแต่ทางอกุศลฝ่ายเดียว



เมื่อจิตใจมนุษย์ต่างระดับกันดังนี้ เมื่อถึงเวลาตาย ความเป็นไปย่อมแตกต่างกัน
พวก ที่ ๑ ขณะใกล้ตาย ย่อมระลึกนึกถึงเรื่องที่เป็นบุญ เป็นกุศล ที่ตนได้เคยประกอบเอาไว้ได้มาก บุคคลเหล่านี้ตายแล้วย่อมไปสู่สุคติภูมิ
พวก ที่ ๒ บุคคลพวกนี้ยามใกล้ตาย ถ้าตนเองได้พยายามระลึกนึกถึงบุญกุศลให้มากเข้าไว้ หรือมีผู้อยู่ใกล้คอยช่วยเตือนสติให้ระลึกถึงกุศลกรรมนั้น บุคคลเหล่านี้ก็จะสามารถพ้นจากอบายภูมิได้เหมือนกัน เว้นแต่ตนเองไม่พยายามนึก อีกทั้งไม่มีผู้ใดคอยช่วยเตือนให้นึก จิตใจจึงมีแต่ความกลุ้มใจ เสียใจ ห่วงใยในทรัพย์สมบัติ ผู้คน หรือเรื่องกังวล อื่น ๆ ตายแล้วย่อมเข้าสู่อบายภูมิ
พวกที่ ๓ พวกนี้มีอกุศลอาจิณกรรม คือบาปที่กระทำสั่งสมอยู่เป็นนิจ มากกว่ากุศล เมื่อใกล้ตาย ลำพังตนเองแล้วไม่มีทางที่จะนึกถึงกุศลกรรมได้ และการที่จะให้คนธรรมดา เช่น ญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิด ก็ไม่สามารถช่วยเตือนสติให้ระลึกได้โดยง่าย จะต้องช่วยเหลือกันอย่างแข็งกล้าเป็นพิเศษจริง ๆ จึงพอจะช่วยได้
พวก ที่ ๔ พวกนี้ตายแล้วไม่พ้นจากการไปสู่อบายภูมิได้เลย ยกเว้นจะได้รับการช่วยเหลือจากท่านผู้มีบุญบารมีแก่กล้าแท้จริง เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวกเท่านั้น นอกจากนี้ตนเองยังจะต้องมีกุศลกรรมที่เคยสร้างสมไว้ในชาติก่อน ๆ ที่มีกำลังมากด้วย จึงจะพอพ้นจากอบายภูมิได้
ในบุคคลใกล้ตายทั้ง ๔ ประเภทนี้ พวกที่ ๑ ตายแล้วไปสู่สุคติภูมิ พวกที่ ๔ ไปสู่ทุคติภูมิ โดยทันที ไม่ต้องพบพระยายมราชแต่ประการใด
ส่วน พวกที่ ๒ และ ๓ นั้น ถ้าระลึกถึงกุศลกรรมไม่ได้ จะต้องไปสู่นรก แล้วจะมีโอกาสได้พบพระยายมราชเพื่อทำการไต่ถาม และช่วยตนเองให้พ้นจากนรกอีกครั้ง หากได้สติตอบคำถามของพระยายมราชได้ถูกต้อง



คำถามของพระยายมราช เป็นคำถามเกี่ยวกับเทวทูต ๕ อย่าง คือ
๑. ความเกิด เทวทูตที่เป็นตัวแทนให้เราพบเห็นคือ ทารกแรกเกิด
๒. ความแก่ ได้แก่ คนชรา
๓. ความเจ็บ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้
๔. การถูกลงโทษตามกฎหมาย ได้แก่ คนต้องราชทัณฑ์
๕. ความตาย ได้แก่ คนตาย


พระยายมราชจะถามว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เคยเห็นเทวทูตเหล่านี้บ้างหรือไม่ เมื่อเห็นแล้วเคยนึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับตนเอง
ถ้า บุคคลนั้น ๆ ตอบว่าเคยเห็น และนำมาคิดพิจารณาเทียบเคียงว่าตนเองก็จะต้องมีสภาพเดียวกันนี้ จึงได้พยายามสร้างทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางพ้นไปจากความทุกข์เหล่านั้น
ในขณะที่ตอบคำถาม พระยายมราชอยู่นี้ ถ้าผู้นั้นบังเอิญนึกถึงกุศลที่ตนเคยประกอบเอาไว้ได้ ก็จะพ้นจากการต้องไปตกนรกทันที แต่ถ้าระลึกไม่ได้ คงตอบไปแต่เรื่องยินดีพอใจ สนุกสนานไปตามวิสัยธรรมดาของโลก พระยายมราชจะถามเตือนด้วยเทวทูตอย่างที่ ๒ อย่างที่ ๓ เรื่อยไปตามลำดับ เพื่อช่วยให้พยายามนึกถึงบุญกุศลให้ได้ เมื่อผู้นั้นนึกไม่ได้จริง ๆ พระยายมราชจะช่วยเตือนสติให้อีกครั้งว่าเคยทำกุศลสิ่งใดไว้บ้าง ทั้งนี้ด้วยเหตุที่สมัยบุคคลเหล่านั้นประกอบการกุศลดังกล่าว มักจะแผ่ส่วนกุศลให้พระยายมราชด้วย (ถ้าหากไม่ได้แผ่ส่วนกุศลให้พระยายมราชไว้ พระยายมราชย่อมนึกถึงกุศลของผู้นั้นไม่ออกเช่นเดียวกัน)
เมื่อพระยา ยมราชเตือนสติ และผู้นั้นระลึกถึงกุศลกรรมของตนขึ้นมาได้ และกล่าวตอบพระยายมราชไป ผู้นั้นย่อมจะพ้นจากนรกได้ ส่วนผู้ที่นึกถึงกุศลกรรมใด ๆ ไม่ออกจริง ๆ แม้พระยายมราชจะถามเตือนด้วยเรื่องเทวทูตจนครบทั้งห้าแล้ว ประกอบทั้งตนไม่เคยอุทิศแผ่ส่วนกุศลใดให้พระยายมราชเลย เป็นเหตุให้พระยายมราชไม่สามารถนึกถึงกุศลกรรมนั้น ๆ นำมาเตือนสติได้ ผู้นั้นก็จำต้องตกลงสู่นรกโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
สำหรับสัตว์ที่มิได้ประกอบกุศลกรรมไว้บ้างเลยในสมัยเป็นมนุษย์เหล่านี้ เมื่อพระยายมราชหมดหนทางช่วยเหลือ จึงกล่าวว่า
“ท่าน ไม่ได้กระทำความดี ทางกาย ทางวาจา ทางใจไว้เลย เพราะมัวประมาทมัวเมาเสีย ท่านจำต้องถูกนายนิรยบาลลงโทษ บาปกรรมอันนี้มิใช่ผู้ใดอื่นทำให้ท่านเลย เป็นเพราะท่านทำของท่านไว้เอง จึงต้องรับโทษของกรรม”


นรกมีทั้งหมด ๔๕๗ ขุม ได้แก่


มหานรก มี ๘ ขุม
๑. สัญชีวนรก (นรกที่ไม่มีวันตาย)
เหล่าสัตว์ที่มาอุบัติบังเกิดในนรกขุมนี้ ถึงแม้จะได้รับทุกข์โทษจนตายแล้ว ก็กลับเป็นขึ้นมาอีก
๒. กาฬสุตตนรก (นรกเส้นด้ายดำ)
เหล่า สัตว์ที่มาเกิดในขุมนรกนี้ จะถูกลงโทษโดยนายนิรยบาล เอาด้ายดำมาตีเป็นเส้นตามร่างกาย แล้วก็เอาเลื่อยมาเลื่อย บางทีก็เอาขวานมาผ่า หรือเอามีดมาเฉือนกรีดตามเส้นดำที่ตีไว้ไม่ให้ผิดรอยได้
๓. สังฆาฏนรก (นรกบดขยี้สัตว์)
เหล่าสัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้ จะถูกภูเขาเหล็กบดขยี้ร่างกายให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา
๔. โรรุวนรก (นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้)
เหล่าสัตว์ที่มาอุบัติในนรกขุมนี้ เป็นสัตว์ที่ได้รับทุกข์โทษแสนสาหัส ต้องร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอยู่ตลอดเวลา
๕. มหาโรรุวนรก (นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญครางมากมาย)
เหล่าสัตว์ที่มาอุบัติในนรกขุมนี้ ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส ร้องไห้เสียงระงมไปทั่วทั้งนรก
๖. ตาปนรก (นรกที่ทำให้สัตว์เร่าร้อน)
เหล่า สัตว์ที่อุบัติในนรกขุมนี้ ต้องได้รับทุกข์โทษเร่าร้อนมีหลาวเหล็กใหญ่โตเท่าต้นตาล โชติช่วงแดงฉานไปด้วยเปลวไฟจำนวนประมาณหลายหมื่นแสนแน่นเต็มนรกไปหมด หลาวเหล็กแต่ละอันมีสัตว์นรกเสียบอยู่บนปลายหลาว มีเปลวไฟพุ่งขึ้นภายใต้หลาวเหล็ก ไหม้เผาผลาญสังหารสัตว์นรกทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา เนื้อหนังมังสาของสัตว์นรกทั้งหลายไหม้สุกพองอยู่เหนือปลายหลาวเหล็ก ต้องเสวยทุกข์เวทนาดิ้นพล่านไปมา จนกระทั่งเนื้อหนังสุกพองไปด้วยอำนาจไฟนรก แล้วก็ถูกหมานรกฉีกเนื้อกิน แล้วก็กลับเป็นขึ้นมาตามเดิม วนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นกรรม
๗. มหาตาปนรก (นรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนเหลือประมาณ)
เหล่า สัตว์ที่อุบัติในนรกขุมนี้ ต้องได้รับทุกข์โทษเร่าร้อนเป็นที่สุด ภายในกำแพงอันกว้างขวางใหญ่โตนั้น มีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟตั้งอยู่เป็นลูก ๆ ตามพื้นข้างภูเขามีขวากเหล็กแหลมคมลุกแดงด้วยไฟ ปักเรียงรายอยู่เหนือพื้น
นาย นิรยบาลถืออาวุธหอกดาบแหลนหลาวลุกแดงด้วยไฟไล่ทิ่มแทงสัตว์นรกทั้งหลายให้ ขึ้นไปบนภูเขาไฟแดงฉาน สัตว์นรกทั้งหลายตกใจกลัวนายนิรยบาล ก็พากันวิ่งไปบนยอดเขานรก ต่อจากนั้นก็มีลมกรดอันร้อนแรงคมกล้าพัดมาด้วยกำลังลมนรก ทำให้สัตว์พลัดตกลงมาจากยอดเขา ถูกขวากนรกร้อนแรงซึ่งอยู่เบื้องล่าง เสียบร่างกายทะลุเลือดแดงฉาน ทรมานทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดและความรุ่มร้อนแสนสาหัส
๘. อเวจีนรก (นรกที่ปราศจากความบางเบาแห่งทุกข์)
นรกขุมนี้ เป็นนรกขุมใหญ่กว่าบรรดานรกทั้งหลาย ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็กที่มีเปลวไฟโชติช่วง
สัตว์ ที่ไปเกิดอยู่ในมหานรกอเวจีนี้มีมากกว่านรกขุมอื่น แออัดยัดเยียดเบียดเสียดกัน ได้รับทุกข์ทรมานด้วยการถูกเปลวไฟนรกอันร้อนระอุเผาไหม้อยู่อย่างนั้นตลอด เวลา จนกว่าจะสิ้นกรรม
อุสสุทนรก
เป็นนรกบริวาร ๑๖ ขุม ล้อมรอบนรกขุมใหญ่ทั้ง ๘ ขุม อุทสุทนรกจึงมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๒๘ ขุม
ยมโลกนรก
เป็น นรกบริวาร ล้อมรอบนรกขุมใหญ่ทั้ง ๘ ขุม โดยอยู่ทิศหน้า ๑๐ ขุม ทิศหลัง ๑๐ ขุม ทิศซ้าย ๑๐ ขุม ทิศขวา ๑๐ ขุม รวม ๔ ทิศ เป็น ๔๐ ขุม ยมโลกนรกทั้งหมดรวมกันจึงมี ๓๒๐ ขุม
โลกันตนรก ๑ ขุม
เป็น นรกขุมใหญ่อยู่นอกจักรวาล มีสภาพมืดมนยิ่งนัก สัตว์ที่ไปเกิดในโลกันตนรกนี้ มีร่างกายใหญ่โต เล็บมือเล็บเท้ายาวยิ่งนัก ต้องใช้เล็บมือเท้าเกาะอยู่ตามชายเชิงจักรวาล ห้อยโหนเหมือนค้างคาวห้อยหัวอยู่บนกิ่งไม้ ได้รับความทุกข์อันแสนสาหัส
สัตว์ นรกในนี้เข้าใจว่าตนอยู่เพียงลำพัง เพราะมืดมนจนมองไม่เห็นเพื่อนสัตว์นรกด้วยกัน ตลอดเวลาห้อยโหนโยนตัวเปะปะไปด้วยความหิวโหย เมื่อใดไปโดนสัตว์นรกด้วยกัน ก็เข้าใจว่าเป็นอาหารรีบขวนขวายไขว่คว้าจับกุมกัน ต่างตนต่างก็จะตะครุบกันกินปล้ำฟัดกันจนกระทั่งเผลอปล่อยมือที่เกาะอยู่ เลยพลัดตกลงไปเบื้องล่าง
บริเวณเบื้องล่างในโลกันตนรกนั้นไม่ใช่พื้น ธรรมดา แต่เต็มไปด้วยน้ำกรดอันเย็นยะเยือกอย่างร้ายกาจยิ่งนัก ทันทีที่สัตว์นรกตกลงมา ร่างกายก็จะเปื่อยแหลกลงเพราะฤทธิ์น้ำกรดเย็นนั้นกัดเอา ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนสิ้นใจตาย แล้วก็กลับเป็นตัวตนขึ้นมาเหมือนเก่า รู้สึกหนาวเย็นจับกระดูกจับขั้วหัวใจ รีบตะเกียกตะกายปีนป่ายขึ้นมาเกาะเชิงเขาจักรวาลด้วยความลำบากยากเข็ญ แล้วก็ห้อยโหนโยนตัวหาอาหารด้วยความหิวโหยต่อไปอีกตามเดิม
เมื่อไขว่ คว้าไปเจอสัตว์นรกด้วยกัน ก็จะตะครุบกินกันเอง ต่อสู้จนตกลงบ่อน้ำกรดเบื้องล่าง ถึงแก่ความตาย แล้วก็กลับเป็นขึ้นมาตามเดิม วนเวียนไปมาเช่นนี้ จนกว่าจะสิ้นกรรม
สัตว์ นรกทั้งหลายที่ทำกรรมชั่วไว้มาก พอเสวยกรรมในมหานรกแล้ว หากกรรมยังไม่สิ้น ก็ต้องมาเสวยผลกรรมในอุสสุทนรก หากกรรมยังไม่สิ้นอีก ก็ต้องมาเสวยผลกรรมในยมโลกทั้ง ๑๐ ที่แวดล้อมมหานรกนี้อยู่ ตามอำนาจของบาปกรรมที่ตนทำไว้
บางคนตกนรกขุมที่เป็นบริวารก่อน แล้วจึงมาตกมหานรกก็มี สุดแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลก่อน บางคนทำบาปกรรมไว้มากต้องตกมหานรกทั้ง ๘ ขุมก็มี
เมื่อ สิ้นกรรมในนรกเหล่านี้แล้ว เศษบาปยังให้ผลต้องไปเกิดในอบายภูมิอื่น คือ ต้องไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาในสถานที่นั้น ๆ แล้วจึงจะได้มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ตามเดิม
ถ้าทำบาปกรรมไว้ น้อย มาตกนรกได้ไม่นาน กุศลกรรมที่ทำไว้ก็จะบันดาลให้ระลึกถึงบุญกุศลนั้นขึ้นมา ก็จะเปลี่ยนสภาพจากสัตว์นรก ไปอุบัติเป็นภูมิอื่นต่อไป.
....................................................


ภาพตัวอย่างการลงโทษในนรกขุมต่าง ๆ


สะพานนรก
คนที่ก่อกรรมทำบาปหลังจากตายแล้วส่วนใหญ่จะต้องมาเดินผ่านสะพานแห่งนี้
นายนิรยบาลจะตีขับให้ตกลงไปเป็นเหยื่อของฝูงงูพิษที่อยู่ในเหวลึกใต้สะพาน

 

ขุมนรกควักลูกตา
นายนิรยบาลกำลังทรมานสัตว์นรกจำพวกที่ใช้สายตาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น กับพวกที่ชอบดูภาพลามก

ขุมนรกห้อยหัวลง
นายนิรยบาลกำลังลงโทษทรมานสัตว์นรกที่ดูถูกให้ร้ายผู้เป็นครูอาจารย์
กับพวกอกตัญญูเนรคุณ และพวกที่ประพฤติผิดศีลธรรมประเพณีความสัมพันธ์ภายในครอบครัว


ขุมนรกน้ำร้อนรวกมือ
นายนิรยบาลกำลังทรมานสัตว์นรกจำพวกนักล้วงกระเป๋า ฉกชิงวิ่งราว ลักขโมย และพวกที่หลอกลวง


ขุมนรกผึ้งพิษ
ฝูงผึ้งพิษกำลังรุมต่อยร่างสัตว์นรกจำพวกที่แอบอ้างชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปหลอกลวง เอาทรัพย์สินเงินทองของผู้บริสุทธิ์
กับพวกที่เบียดบังเอาเงินของศาสนาไปใช้ส่วนตัว และพวกหมอดู ที่หลอกรับจ้างทำพิธีสะเดาะเคราะห์




ขุมนรกตัดเครื่องเพศ ให้หนูกัดแผล
นายนิรยบาลกำลังตัดเครื่องเพศสัตว์นรกจำพวกที่มักมากในกามารมณ์ เช่นพวกอลัชชี กับพวกที่ชอบเป็นชู้ด้วยสามี-ภรรยาผู้อื่น

ขุมนรกอมลูกกระสุนเหล็ก
คน จำพวกที่ใช้กลอุบายหลอกล่อให้ผู้อื่นตกหลุมพรางของตนแล้วบังคับขู่เข็ญเอา สิ่งที่ตนต้องการบ้าง ใช้เล่ห์ลิ้นพูดหว่านล้อมให้คนหลงเชื่อแล้วกระทำอนาจารบ้าง โกหกมดเท็จเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินผลประโยชน์บ้าง เมื่อตายไปจะต้องถูกลงโทษทรมานอยู่ในนรกขุมนี้



ขุมนรกสาวไส้
นายนิรยบาลกำลังใช้มีดผ่าอกสาวไส้ร่างสัตว์นรกที่ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการกระทำทุจริต
กับพวกที่ปลูกพืชไร่ใส่ยาฆ่าแมลงยังไม่ทันหมดพิษยาก็นำออกจำหน่าย
กับพวกพ่อเล้าแม่เล้า และพวกล้มแชร์ ให้สุนัขกิน



ขุมนรกน้ำมันเดือด
นายนิรยบาลกำลังทรมานสัตว์นรกจำพวกที่เป็นโจรปล้น ตีชิงวิ่งราว ลักขโมย
กับพวกที่ฆ่าคนตายด้วยอาวุธ ยาพิษ
พวกฉ่อราษฎร์บังหลวง พวกประพฤติผิดกามผู้เป็นสายเลือด
พวกอกตัญญูต่อผู้บังเกิดเกล้า

ขุมนรกตัดลิ้นร้อยกราม
นักบวชที่ประพฤติผิดธรรมวินัยทางปาก เช่นกล่าวหาให้ร้ายศาสนาอื่น และเทศนาที่มีความหมายทำนองสองแง่สามง่าม
กับพวกที่กล่าวหาให้ร้ายผู้อื่นโดยมิชอบ ตลอดจนใช้วาจาแช่งด่าหยาบคาย หลังจากตายไปแล้วจะต้องถูกลงโทษทรมานอยู่ในนรกขุมนี้




ขุมนรกบดร่างวิญญาณ
พวก ที่อกตัญญู พวกฆ่าทำลายชีวิตคนและสัตว์ กับพวกมักมากในกามารมณ์ คนจำพวกนี้เมื่อจบชีวิตลงนอกจากต้องถูกลงโทษทรมานตามผลกรรมอย่างหนักแล้ว สุดท้ายยังต้องถูกนำตัวมาบดอัดจนร่างแหลกละเอียด


ขุมนรกตัดท่อนแขนขา
พวกที่ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่สุจริตและฉวยโอกาสหวังรวยทางลัด
พวกลักขโมยฉกชิงวิ่งราวปล้นฆ่า
และพวกที่ใช้กำลังทุบตีพ่อแม่ผู้มีพระคุณ
คนจำพวกนี้หลังจากตายไปแล้วจะต้องถูกลงโทษทรมานอยู่ในนรกขุมนี้


ขุมนรกน้ำมันกระเดนใส่ร่าง
พวก เขียนหนังสือกับถ่ายภาพลามก และพวกที่ปรุงยาปลุกอารมณ์ทางเพศ พวกโรงพิมพ์ตลอดจนผู้ขาย คนพวกนี้เป็นภัยต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง ก่อความมัวหมองทางด้านจิตใจให้แก่ชาวโลกโดยมิชอบ หลังจากตายไปแล้วจะต้องถูกลงโทษทรมานอยู่ในนรกขุมนี้



ขุมนรกประหารใจ
เป็น ขุมนรกประหารใจสัตว์นรกจำพวก ใจอิจฉาริษยา ใจอธรรมลำเอียง ใจโหด อำมหิต ใจที่มีแต่เคียดแค้นพยาบาท ใจที่เห็นแก่ตัว และจงเกลียดจงชังผู้อื่น ใจที่ไม่รู้จักกตัญญูรู้คุณ ใจที่วิปริตหมกมุ่นแต่กามารมณ์


ขุมนรกกรอกยาพิษ
พวกนักค้ายาปลอมและสิ่งเสพติด ในที่สุดก็จบลงดังภาพนี้


ขุมนรกตัดลอกถลกหนัง
สำหรับ คนที่ไม่มีความละอายต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของตน หลังจากตายไปแล้วจะถูกนายนิรยบาลลงโทษทรมานด้วยการตัดลอกถลกหนังหน้าออกดัง ภาพ


งูพิษเจาะร่างวิญญาณ
ชาว โลกที่ชอบเจาะหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อกระทำความทุจริต กับพวกรับจ้างฆ่าคนอย่างเลือดเย็น พวกปากหวานใจเฉือดคอ คอยยุแหย่ให้คนหลงผิดฆ่าทำลายกัน และพวกรับเหมาที่เจตนาลดวัสดุ-แรงงานผิดแบบก่อสร้าง
คนจำพวกนี้จิตใจชั่ว ช้าเลวทรามยิ่งอสรพิษ คิดเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่นึกถึงอะไร ตายแล้วนอกจากต้องรับกรรมทรมานตามขุมนรกต่าง ๆ แล้ว ท้ายสุดยังต้องถูกลงโทษทรมานในนรกขุมนี้ โดยถูกงูพิษชนิดต่างๆ เจาะร่างวิญญาณ
....................................................


ภาพพระมาลัยเทวะเถระโปรดยมโลก


พระมาลัยเทวะเถระโปรดยมโลก


พระมาลัยโปรดนรกปาณาติบาต
สัตว์นรกในขุมนี้ ถ้าใครเคยฆ่าสัตว์ชนิดใดไว้ ก็จะมีหัวเป็นสัตว์ชนิดนั้น


พระมาลัยโปรดนรกอทินนาทาน


พระมาลัยโปรดนรกกาเมสุมิจฉาจาร


พระมาลัยโปรดนรกมุสาวาท

พระมาลัยโปรดนรกสุราเมรัย


ที่มา

อิทธิบาท 4



คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้บรรลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วย
สิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ
          
           ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
           ๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
           ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
           ๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน
ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ
วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง
จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่
 

พรหมวิหาร 4


ความหมายของพรหมวิหาร 4


พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข   
กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์   
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี   
อุเบกขา การรู้จักวางเฉย 

คำอธิบายพรหมวิหาร 4
1. เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

2. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ
ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
- ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
3. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
4. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

อริยสัจ 4


อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ หลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค                
          1. ทุกข์ คือ ความจริงว่าด้วยทุกข์ คนทุกคนต่างก็เคยพบกับความทุกข์ หรือประสบปัญหาบางอย่างมาแล้วทั้งนั้น เช่น นักเรียนที่สอบตกก็เป็นทุกข์ เศรษฐีที่หาเงินได้ยังไม่มากพอตามที่ตนต้องการก็เป็นทุกข์ คนจนก็เป็นทุกข์ เพราะไม่มีสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งความทุกข์และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีได้ทุกขณะ ความจริงก็คือว่าความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเราจะต้องไม่ประมาท และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาทุกเรื่อง
                หน้าที่ต้องทำในทุกข์  คือ  การกำหนดรู้ในทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
หมวดธรรมที่ว่าทุกข์    ได้แก่ ขันธ์ 5   ในส่วนที่เป็นจิตและเจตสิก
            จิตและเจตสิก
            จิต หรือ วิญญาณธาตุ แปลว่า สภาวะที่รู้ เมื่อมีร่างกายจึงรู้คิด รู้พิจารณา รู้จักไตร่ตรอง ใคร่คราญได้  หมายถึง สภาพที่รู้คิด รู้พิจารณา ไตร่ตรอง โดยต้องมีร่างกายที่มีอาการ 32 ครบ เป็นเครื่องมือ หรือภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์
            เจตสิก หมายถึง สภาวะที่ประกอบกับจิต คุณสมบัติและอาการของจิต มีจิตฝ่ายกุศล จิตฝ่ายอกุศล และจิตที่เป็นกลางๆ คือไม่ดีไม่ชั่วชีวิตประกอบด้วย ร่างกายและจิต (รูปและนาม)
                1. รูป หมายถึง ร่างกาย คือ ส่วนประกอบของชีวิตเป็นสสาร (ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ)
                2. เวทนา หมายถึง อาการที่เป็นความสุข ความทุกข์ และไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายและใจ เรียกว่า กายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์
                3. สัญญา หมายถึง ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ ของใจ
                4. สังขาร หมายถึง การคิดปรุงแต่งทั้งทางดี ทางชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว ของใจ
                5. วิญญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งทางอารมณ์ในสิ่งต่างๆ ของใจ มี 6 ทาง คือ ตา (จักขุ) หู (โสต) จมูก (ฆานะ) ลิ้น(ชิวหา) กาย (กายะ) ใจ (มโน) 
ประกอบด้วย
                       
- ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่ตามองเห็นสิ่งต่างๆ เรียก จักขุวิญญาณ
                        - ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่หูได้ยินเสียงสิ่งต่างๆ เรียก โสตวิญญาณ
                        - ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่จมูกสูดดมกลิ่นสิ่งต่างๆ เรียก ฆานวิญญาณ
                        - ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่ลิ้นได้ลิ้มรสสิ่งต่างๆ เรียก ชิวหาวิญญาณ
                        - ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่กายได้สัมผัสสิ่งต่างๆ เรียก กายวิญญาณ
                        - ความรู้แจ้งทางอารมณ์เมื่อใจได้สัมผัสอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ เรียก มโนวิญญาณ
                กระบวนการของการเกิดความทุกข์ของมนุษย์เราโดยสังเขป จะเกิดขึ้นเมื่อใด
                ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่ตามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แล้วเกิดความไม่พอใจ โดยแสดงอาการท่าทางต่างๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ให้เห็น นั่นคือ ความทุกข์
  
               
ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่หูได้ยินเสียงสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แล้วเกิดความไม่พอใจ โดยแสดงอาการท่าทางต่างๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ให้เห็น นั่นคือ ความทุกข์
                ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่จมูกสูดดมกลิ่นสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แล้วเกิดความไม่พอใจ โดยแสดงอาการท่าทางต่างๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ให้เห็น นั่นคือ ความทุกข์
                ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่ลิ้นได้ลิ้มรสสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แล้วเกิดความไม่พอใจ โดยแสดงอาการท่าทางต่างๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ให้เห็น นั่นคือ ความทุกข์
                ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่กายได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แล้วเกิดความไม่พอใจ โดยแสดงอาการท่าทางต่างๆ ออกมาทางกาย ทางวาจา ให้เห็น นั่นคือ ความทุกข์
                ความรู้แจ้งทางอารมณ์ที่ใจได้สัมผัสอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา เพราะจำได้หมายรู้ (สัญญา) แล้วคิดปรุงแต่งไม่ดี (สังขาร) แล้วเกิดความไม่พอใจ อิจฉาริษยา โกรธ พยาบาทปองร้าง ฯลฯ
                นั่นคือ ความทุกข์ใจ ถ้าควบคุมความรู้สึกในใจที่ไม่ดีเหล่านี้ได้   ก็จะแสดงออกทางกาย ทางวาจาให้เห็น
            การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ทำอย่างไรทุกข์ใจจะไม่เกิด
            เมื่อตาได้สัมผัสกับรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สูดดมกลิ่น ลิ้มได้ลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจได้นึกคิดต้องระวังใจ ไม่ให้คิดปรุงแต่ง   จำได้หมายรู้ในเรื่องทางที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา หรือ ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่เกินขอบเขตวิสัยของตนที่จะทำได้   แล้วความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นครอบง่ำจิต
            สรุป อริยสัจ 4 ข้อที่ 1 ทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว  เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้

            2. สมุทัย คือ ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ ความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนนั้นย่อมเกิดจากสาเหตุบางอย่าง มิใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ดังพุทธดำรัสว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด   ตัวอย่างเช่นนี้ นักเรียนที่สอบตกอาจเป็นเพราะเกียจคร้านในการอ่านหนังสือ เศรษฐีที่หาเงินได้ยังไม่มากพอตามที่ตนต้องการ อาจเป็นเพราะมีความโลภจนเกินไปเป็นต้น ซึ่งสาเหตุของความทุกข์นั้น คือความอยากที่เกินพอดี ซึ่งเรียกว่า ตัณหา มี 3 อย่างคือ   กามตัณหา   ภวตัณหา  วิภวตัณหา
            หมวดธรรมที่ว่าด้วย สมุทัย ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท, นิวรณ์ 5 และอุปาทาน 4
                1.ฏิจจสมุปบาท สภาพที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น หรืออิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น กล่าวโดยหลักการ คือ เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นจึงมีเพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นจึงเกิดเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านั้นจึงไม่มี   เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านั้นจึงดับ  
                สรุป ความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เกิดจากการกระทำเหตุหรือปัจจัยที่ไม่เหมาะสม เช่น ความไม่ดี ความประมาท ความเกียจคร้าน  เป็นต้น  ผลก็เป็นความทุกข์  เช่น ความเดือดร้อน   ความไม่เจริญก้าวหน้า ความวิบัติ เป็นต้น
                2. นิวรณ์ 5  ได้แก่  1. กามฉันทะ 2. พยาบาท  3. ถีนมิทธะ 4. อุทธัจจกุกกุจจะ  5. วิจิกิจฉา
                นิวรณ์ 5 แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องขัดขวาง เป็นเครื่องห้ามมิให้บรรลุธรรมเกิดขึ้น มิให้ฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล เกิดขึ้นได้ เป็นเครื่องกีดขวาง ปิดกั้นการกระทำความดี คือ
                    1.กามฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในกามคุณ 5 มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นิวรณ์นี้ เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้เกิดความหมกมุ่นครุ่นคิด หาแต่กามคุณที่ตนปรารถนา ทำให้จิตใจไม่เป็นสมาธิในการทำความดี ในการปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้บรรลุกุศลธรรมได้
                    2.พยาบาท คือ ความปองร้าย ความคิดอาฆาตมาดร้าย ความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา นิวรณ์ข้อนี้ เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้เกิดความขุ่นเคือง ความหม่นหมองใจ ทำให้จิตใจไม่มีปีติปราโมทย์ในการทำความดี ในการปฏิบัติ ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    3.ถีนมิทธิะ คือ ความหอหู่ท้อแท้ใจและความง่วงเหงาหาวนอน นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้จิตใจหอหู่ท้อแท้ ท้อถอย ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้จิตปราศจากกุศลจิต คือทำให้จิตไม่มีแก่ใจที่จะทำความดี ไม่คิดปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    4.อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ ได้แก่ ความคิดฟุ้งซ่าน แลบไหลไปในอารมณ์ต่างๆ คิดเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ และเกิดความรำคาญใจ ร้อนใจ กลุ้มใจในความผิดพลั้งพลาดต่างๆ เช่น มัวคิดไปว่า ตนเองได้ทำความชั่ว ความผิดพลาดไว้มาก ไม่ได้ทำความดีไว้เลย แล้วเกิดความร้อนใจ รำคาญใจในภายหลัง นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้จิตไม่มีความสุข ไม่สบายใจในการทำความดี ในการปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    5. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเลใจ อันได้แก่ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นต้น นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว จะทำให้ขาดวิจารณ์ ไม่สามารถพินิจพิจารณาตัดสินใจทำความดี ตัดสินใจปฏิบัติธรรมได้ ย่อมขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    สรุป นิวรณ์ 5 เมื่อเกิดขึ้นอยู่ในใจของผู้ใดแล้ว ย่อมขัดขวาง หรือขวางกั้นในการทำความดีหรือการปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งทางโลกและทางธรรม มิให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จ
                3. อุปาทาน4 กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม (กามคุณ 5 = รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)  ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิ (ความเห็น)  สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยศีลวัตร (ข้อปฏิบัติ)  อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน (การแบ่งเราแบ่งเขา)  อุปาทาน เป็นชื่อของกิเลสกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงออกมาในลักษณะที่ยึดมั่น ถือมั่น  ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น ๆ โดยความหมายทั่วไป อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น   แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
                    1.กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม  คือการที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง 5  คือ  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนกำหนดว่าน่าใคร่  น่าปรารถนา  น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นมีความรู้สึกว่า "นั่นเป็นของเรา" เช่นเห็นรูปสวยงามเข้า ก็อยากได้มาเป็นของตนด้วย อำนาจตัณหา เมื่อได้มาว้ในครอบครองแล้ว จะยึดมั่นถือมั่นว่า  รูปนั่นของเรา ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตจะเกิดขึ้น  เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง  หรือพลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น
                    2.ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เช่นยึดถือในลัทธิธรรมเนียม ความเชื่อถือต่าง ๆ ขาดการใช้ปัญญา พิจารณาหาเหตุผล เช่น  ถือว่าการกระทำดี ชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งสิ้น ไม่มีบุญบาป บิดา มารดา พระอริยบุคคลเป็นต้น  ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้อยากแล้ว ยังนำไปสู่การถกเถียง การแตกแยกกัน จนต้องประสบทุกข์ในอบายเพราะทิฏฐุปาทานบางอย่าง
                    3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร และข้อปฏิบัติต่าง ๆ  ที่ตนประพฤติมาจนชินด้วยความเข้าใจว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถูกต้องเป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่าง พิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย  จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่างๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง  โคบ้าง  โดยเข้าใจว่า จากการทำเช่นนั้นทำให้ตนได้ประสบบุญ  เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า   จนถึงละสิ้นทุกข์   เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นต้น
                    4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน โดยความหมายทั่วไป หมายถึงยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกเราพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่  ตนนั่นเองเป็นผู้มี ผู้รับ ผู้ไปในภพต่าง ๆ เสวยผลบุญบาปต่าง ๆ ที่ตนทำไว้  โดยขาดการมองตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น    ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการประชุมพร้อมแห่งปัจจัยทั้งหลายเท่านั้น
                    อุปาทานทั้ง 4 ประการนี้   ที่ทรงแสดงไว้ในปฏิจสมุปบาทนั้น   อุปาทานอยู่ในฐานะเป็นปัจจุบันเหตุ  ร่วมกับตัณหา และด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนี้เอง  ที่ทำให้ได้ประสบความทุกข์ต่างๆ
                สรุป สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรละ
                3. นิโรธ คือ ความจริงว่าด้วยความดับทุกข์ กล่าวคือ ความทุกข์นั้นเมื่อเกิดได้ก็ดับได้ เมื่อความทุกข์เกิดจากสาเหตุ ถ้าเราดับสาเหตุนั้นเสีย ความทุกข์นั้นก็ย่อมดับไปด้วย ดังพุทธดำรัสว่า “เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ” ความทุกข์หรือปัญหาของคนเรานั้น เมื่อเกิดแล้วก็จะไม่คงอยู่อย่างนั้นเป็นนิจนิรันดร์ แต่อยู่ในวิสัย ที่เราสามารถจะแก้ไขได้ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มากก็น้อย และอยู่ที่ว่ามีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขหรือไม่
                หมวดธรรมที่ว่าด้วยนิโรธ ได้แก่ นิพพาน
                นิพพาน
                คำว่า“นิพพาน” แปลว่า ดับเย็น นิพพานในพระพุทธศาสนา มีนัยที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอยู่ 3 อย่างคือ
                    1.การสิ้นกิเลส หรือการดับกิเลส เรียกว่า นิพพาน
                    2 ผลที่เกิดขึ้นเป็นความสงบปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือภาวะที่ปราศจากความทุกข์ อันเกิดจากการสิ้นกิเลสนั่นเอง เป็นตัวนิพพาน
                    3. ธรรมธาตุอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดับของกิเลสและเป็นสภาพที่มีอยู่นิรันดร เมื่อใครปฏิบัติหรือลุถึง กิเลสของบุคคลนั้นก็ดับไป ธรรมธาตุอันนี้ถูกว่าจัดว่าเป็นนิพพาน หรือบางทีก็เรียกว่า “นิพพานธาตุ”  ความแตกต่างระหว่างความหมายทั้ง 3 นัยนี้ได้โดยง่าย โดยพิจารณาไปในแง่ของเวลาคือ นิพพานอย่างที่ 1 คำนี้เป็นอาการนาม หมายถึงอาการที่กิเลสดับลงหรือสิ้นลง จึงมีระยะเวลาชั่วขณะจิตเดียวหรือแวบเดียว ส่วนตัว นิพพานอย่างที่ 2 เป็นภาวะนาม หมายถึงความที่ทุกข์ไม่มี มีผลเป็นความไม่ทุกข์อันนี้จะมีระยะยาวไปจนตลอดชีวิตของบุคคลผู้ลุถึงนิพพานนั้น ส่วน นิพพานอย่างที่ 3 นั้น คือว่า เป็นสภาพอย่างนิรันดร ไม่มีเกิดไม่มีดับ เรียกว่าเป็นสิ่งที่กล่าวไม่ได้ว่ามีอายุเท่าไร ท่านใช้คำว่า อชาตัง = ไม่เป็นอยู่, อมตัง = ไม่ตาย เป็นลักษณะนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงอยู่นอกเหนือความมีอายุ นิพพานธาตุโดยนัยกล่าวแล้วนี่เอง หมายถึงนิพพานที่กล่าวถึงใน โลกุตตรธรรม 9.  ทำให้เห็นได้ชัดว่านิพพานอย่างที่ 1 เนื่องด้วยมรรค, นิพพานอย่างที่ 2 เนื่องด้วยผล, ส่วนนิพพานอย่างที่ 3 ได้แก่ นิพพานธาตุ อันเป็นของนิรันดรดังกล่าวแล้ว, นิพพาน อย่างที่ 1 เนื่องด้วยมรรค เพราะมีชั่วขณะที่มรรคตัดกิเลส ซึ่งถือกันว่าชั่วขณะจิตหรือแวบเดียว, นิพพานอย่างที่ 2 เนื่องด้วยผล เพราะผลแห่งความสิ้นกิเลสนั้นปรากฏแก่บุคคลนั้น จนตลอดชีวิตของบุคคลนั้น, ส่วนนิพพานอย่างที่ 3 เป็นนิพพานแท้ ไม่ต้องเกี่ยวกับมรรค หรือผล ก็เป็น สิ่งที่ปรากฏตัวอยู่ได้เองแก่บุคคลผู้มีปัญญา ในที่ทั้งปวงและในกาลทุกเมื่อ.
                ในบาลีอิติวุตตกะ แบ่งนิพพานธาตุเป็น 2 อย่าง คือ นิพพานสำหรับ พระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และนิพพานสำหรับ พระอรหันต์ที่ดับขันธ์แล้ว เมื่อกล่าวโดยนัยนี้ นิพพานสำหรับพระอรหันต์ผู้มีชีวิตอยู่ก็คือนิพพานอย่างที่ 2 ข้างต้น และนิพพานสำหรับพระอรหันต์ผู้ดับขันธ์แล้วก็คือนิพพานอย่างที่ 3
                ในบาลีอังคุตตรนิกาย กล่าวถึงนิพพานโดยยกบุคคลเป็นที่ตั้ง สรุปได้เป็น 2 พวกอย่างเดียวกัน คือ นิพพานที่มีเชื้อเหลือ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน และนิพพานหมดเชื้อโดยสิ้นเชิง เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
                สรุป นิโรธ (ความดับทุกข์) เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง หรือทำให้เกิดมีขึ้น           
                4. มรรค  คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือหมดปัญหาต่างๆ โดยสิ้นเชิง มีองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ 
                   
1) เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) คือเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง
                    2) ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) คือ ไม่ลุ่มหลงมัวเมากับความสุขทางกาย ไม่พยาบาทและไม่คิดทำร้ายผู้อื่น
                    3) เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) คือ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ
                    4) กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) คือ ไม่ทำลายชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดทางกาม
                    5) เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) คือ การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่ทำกิจการในสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อคนทั่วไป
                    6) พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) คือความพยายามที่จะป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น ความพยายามที่จะกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ความพยายามที่จะสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นและความพยายามที่จะรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ตลอดไป
                    7) ระลึกชอบ (สัมมาสติ) ความหลงไม่ลืม รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง
                    8) ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ การที่สามารถตั้งจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน
                หมวดธรรมที่ว่าด้วยมรรค ได้แก่ อธิปไตย 3, วิปัสสนาญาณ 9 และมงคล 38 (ความเพียรเผากิเลส, ประพฤติพรมหจรรย์, เห็นอริยสัจ และบรรลุนิพพาน
                1. อาธิปไตย 3 (ความเป็นใหญ่) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
                        1.อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ หมายถึง กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ
                        2.โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ หมายถึง การกระทำด้วยปรารภนิยมของโลกเป็นประมาณ
                        3.ธัมมาธิปไตย ถือธรรมะเป็นใหญ่ หมายถึง การกระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริงสมควรตามธรรม เป็นประมาณ
                สรุป ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือหมดปัญหาต่างๆ โดยสิ้นเชิง ต้องเป็นตามหลัก ธัมมาธิปไตย
                2. วิปัสสนาญาณ 9 : วิปัสสนา แปลว่า การทำให้แจ้ง ญาณ แปลว่า ความรู้ หมายถึง ความรู้ที่ทำให้ดับทุกข์ ดับกิเลสได้สิ้นเชิง มี 9 อย่าง
                        1) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้ตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนาม
                        2) ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้ตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
                        3) ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ความรู้อันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
                        4) อาทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้คำนึงเห็นโทษ
                        5) นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้คำนึงเห็นด้วยความหน่าย
                        6) มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ความรู้หยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
                        7) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้อันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
                        8) สังขารุเปกขาญาณ หมายถึง ความรู้อันเป็นโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
                        9) สัจจานุดลมิกญาณ หมายถึง ความรู้ที่เป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
                3. มงคลที่ 38   ได้แก่
                    1. มงคลที่ 31 ความเพียรที่เผากิเลส (บำเพ็ญตบะ)
                        คนเราเมื่อศึกษาจะพบว่า ยังมีนิสัยไม่ดีบ้าง มีความประพฤติที่ไม่ดีบ้าง ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นยังมีอยู่อีกมาก เช่น เคยมักโกรธ เห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา ซึมเซา ท้อถอย ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจัดการแก้ไขให้ดีขึ้น ด้วยอาการที่เรียกว่า การบำเพ็ญตบะ หรือ การทำความเพียรเผากิเลส
                        การบำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือกิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจไม่ติด ต้องเผ่นหนีไปแล้ว ใจก็จะผ่องใส หมดทุกข์   การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุกอย่าง เพื่อฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงิน เราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน คือ ต้องฝืนใจของเขา เขาจึงจะไป การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือน ฉะนั้นหลักปฏิบัติของการบำเพ็ญตบะ คือ การฝืนความต้องการของกิเลส
                    ประเภทของการบำเพ็ญตบะ การฝืนความต้องการของกิเลส เพื่อไล่กิเลสออกจากใจ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
                        1. สัลเลขะ คือ การฝืนกิเลส ด้วยกำจัดกิเลสค่อยเป็นค่อยไป หรือค่อยขัดเกลากันไป เช่นโลภกำจัดโดยให้ทาน ชอบโกรธผู้อื่น แก้โดย แผ่เมตตา ขี้เกียจ แก้โดย ขยันทำ เป็นต้น
                        2. ตุตังคะ คือ การฝืนกิเลสด้วยการกำจัดกิเลสแบบหักโหมรุนแรงได้ผลทันตาเห็น ใช้ปฏิวัติอุปนิสัยได้รวดเร็วเฉียบพลัน ผู้ปฏิบัติต้องมีความอดทน มีความเพียรสูงจึงจะทำได้
                    วิธีปฏิบัติเผากิเลสในชีวิตประจำวัน ทำได้ดังนี้
                            1. ฝึกความอดทน
                            2. อินทรีสังวร คือ การสำรวมระวังตน(กาย วาจาและใจ)โดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับเหตุการณ์ที่จะเกิดแล้วผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ แล้วทำความรู้เท่าทันกับเหตุการณ์นั้น ไม่เกิดเป็นความโลภ ความโกรธและความหลง เป็นต้น
                            3. มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะได้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นเกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักทำความดีนั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้เพราะขาดความเพียร
                สรุป ความเพียรที่เผากิเลส (บำเพ็ญตบะ)เมื่อปฏิบัติแล้ว ความเสื่อม ความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะไม่เกิดขึ้น
                มงคลที่ 32 ประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติเยี่ยงพรหม หรือความประพฤติอันประเสริฐ
                หมายถึง การประพฤติตามคุณธรรมต่างๆ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีกจนกระทั่งหมดกิเลส
                วิธีประพฤติพรหมจรรย์
                    1. พรหมจรรย์ขั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน
                            - ทาน คือ การรู้จักการสละวัตถุภายนอกที่เป็นส่วนเกิน ให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า หรือได้รับความทุกข์เดือด เพื่อให้เขามีโอกาส หรือพ้นจากความทุกข์เดือดตามอัตภาพเขา
                            - เวยยาวัจจะ คือ การช่วยเหลือกิจที่ชอบ เช่น สาธารณกุศล สาธารณประโยชน์
                            - รักษาศีล 5 โดยเฉพาะศีลข้อ 3 ไม่ประพฤตินอกใจสามี-ภรรยา
                    2. พรหมจรรย์ขั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน
                            - อปปมัญญา คือ การแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย แม้เขาจะเป็นศัตรูก็ตาม
                            - สทารสันโดษ คือ พอใจยินดีเฉพาะคู่ครองของตน และหาโอกาสรักษาศีล 8 บ้างตามกำลัง
                            - เมถุนวิรัติ คือ เว้นขาดจากการครองคู่ ได้แก่ ผู้ที่ไม่แต่งงาน หรือเป็นนักบวช
                    3. พรหมจรรย์ขั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน
                            - วิริยะ คือ ความเพียรตั้งใจทำฝึกสมาธิตลอดชีวิต
                            - ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล 8 ตลอดชีวิต
                            - อริยมรรค คือ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 พร้อมบริบูรณ์อยู่ในตัวพรหมจรรย์ทุกขั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก
                สรุป ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อปฏิบัติแล้ว ความเสื่อม ความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะไม่เกิดขึ้น
                มงคลที่ 33 เห็นอริยสัจจ์ : เห็นความจริงอันประเสริฐ

               
ความหมาย การเห็นเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิตว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต  อริยสัจจ์ 4 เป็นความจริงที่มีอยู่คู่โลก แต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือทั้งรู้ทั้งเห็น แล้วทรงชี้ให้ดู ได้แก่
                    1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
                            - สภาวทุกข์ (ทุกข์ประจำ) คือ ความทุกข์ที่เกิดจากตัวเอง ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความทุกข์ประเภทนี้ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
                            - ปกิณกทุกข์ (ทุกข์จร) คือ ความทุกข์ที่เกิดจากเหตุภายนอก เมื่อกระทบตนแล้วทำให้เกิดอาการ เช่น แห้งใจ น้อยใจ ท้อใจ กลุ้มใจ คร่ำคราญ ร่ำไรรำพัน เจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ความทุกข์ประเภทนี้   ผู้มีปัญญาสามารถหลีกเลี่ยงได้
                    2. สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงค้นความจริงว่า ความทุกข์เกิดจาก ตัณหา (ความดิ้นรนทะยานอยากในใจ) และทรงแยกอาการออกเป็น 3 ลักษณะ
                            - กามตัณหา คือ ความอยากได้ หรืออยากยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เมื่อไม่ได้ก็เกิดเป็นความทุกข์ ทั้งกายและใจ
                            - ภวตัณหา คือ ความอยากมีอยากเป็น   เมื่อใจเกิดความอยากมีอยากเป็นตามที่ตนปรารถนาแล้วไม่ได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับกายและใจของผู้นั้น
                            - วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เมื่อพ้นสภาพที่เป็นอยู่ไม่ได้ กายและใจก็เป็นทุกข์ เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค เป็นต้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับใจของผู้นั้น
                    3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือดับปัญหาได้สิ้นเชิง หรือ ภาวะที่ไม่ความทุกข์ ภาวะที่ไม่มีปัญหา หรือ ภาวะที่เป็นความสุขสงบ หรือภาวะเจริญก้าวหน้า หรือประสบความสำเร็จในชีวิต
                    4. มรรค คือ ทางหรือวิธีการปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ด้วยการปฏิบัติตามทางมัชฌิมาปฏิปทา 8 ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
                วิธีเห็นอริยสัจจ์
                คนทั่วไปแต่เห็นอริยสัจจ์ได้แต่เพียงคิดและรู้อย่างผิวเผินเท่านั้น ฉะนั้นจึงประสบกับความทุกข์ทั้งกายและใจในการดำรงชีวิตคละเคล้ากันไปตามความมากน้อยแห่งเหตุและปัจจัยที่กระทำผู้ที่เห็นอริยสัจจ์ จะเห็นถึงสภาพที่แท้จริงของชีวิตว่ามีแต่ความทุกข์ เห็นถึงเหตุของความทุกข์เหล่านั้นอย่างชัดเจนว่ามาจากความดิ้นรนทะยานอยากในใจ เห็นแนวทางที่จะกำจัดสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น   โดยปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 และเห็นอย่างชัดแจ้งถึงสภาพที่หมดทุกข์แล้ว่า มีอยู่จริงและมีความสุขมากเพียงใด จึงเป็นคนระมัดระวังไม่ประมาททั้งกาย วาจา ใ จ มั่นคนอยู่ในความดี เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดบางเบา หรือหมดไป ตามแนวทางที่ได้เห็นแล้วนั้น
                มงคลที่ 34 ทำนิพพานให้แจ้ง
                ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุพระนิพพาน สัตว์โลกทั้งมวลจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏร่ำไป อันเป็นไปตามกฎแห่งวัฏฏะ 3 คือ กิเลส กรรมและวิบาก กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก คือให้เกิดผล และวิบากคือผลกรรมที่จะอำนวยให้ไปเกิดในภูมิในภพต่างๆ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็จะกรทำกรรมและจะต้องได้รับวิบากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น ผู้ที่จะเข้าพ้นสังสารวัฏไปได้ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปนั้น จะต้องปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุพระนิพพาน บรรลุพระนิพพานเมื่อใด ก็ข้ามพ้นสังสารวัฏได้เมื่อนั้น ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ตราบนั้นก็ชื่อว่าตกอยู่ในห้วงทุกข์ พ้นสังสารวัฏเมื่อใด ก็พ้นทุกข์ได้เมื่อนั้น
                ลักษณะของ “นิพพาน”
                1. การสิ้นกิเลส หรือการดับกิเลส เรียกว่า นิพพาน
                2. ผลที่เกิดขึ้นเป็นความสงบปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือภาวะที่ปราศจากความทุกข์ อันเกิดจากการสิ้นกิเลสนั่นเอง เป็นตัวนิพพาน
                3. ธรรมธาตุอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดับของกิเลสและเป็นสภาพที่มีอยู่นิรันดร เมื่อใครปฏิบัติหรือลุถึง กิเลสของบุคคลนั้นก็ดับไป ธรรมธาตุอันนี้ถูกว่าจัดว่าเป็นนิพพาน หรือบางทีก็เรียกว่า “นิพพานธาตุ”
 
               
นิพพาน แบ่งตามเหตุที่บรรลุมี 2 อย่าง
                    1.สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ (ร่างกาย) ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน ? เป็นอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลสแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว (บรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผลแล้ว) ปลงภาระได้แล้ว (ละความยึดมั่นในเบญจขันธ์ได้แล้ว) ได้บรรลุถึงประโยชน์อย่างยิ่งแล้ว (บรรลุอรหัตตผลแล้ว) สิ้นกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพแล้ว รู้ดีรู้ชอบแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว อินทรีย์ 5 (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย)ของภิกษุนั้นยังดำรงอยู่ เพราะอินทรีย์เหล่านั้นยังไม่วิบัติ ภิกษุนั้นจึงยังได้เสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ธรรมเป็นที่ลิ้นไปแห่งโลภะ เป็นที่สิ้นไปแห่งโทสะ เป็นที่สิ้นไปแห่งโมหะ อันใดของภิกษุนั้น สภาวธรรมนี้เรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
                    2. อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน? เป็นอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลสแล้ว ...... รู้ดีรู้ชอบแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว การเสวยอารมณ์ทั้งปวงของภิกษุนั้น เป็นอันไปเพลิดเพลินแล้ว จักดับสนิทในโลกนี้ที่เดียว นี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ขุ.อิติ.25/258-9)
                ภาวะนิพพาน   นิพพานนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
                - ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้น(นิพพาน) มีอยู่ ซึ่งเป็นอายตนะที่ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม เลย อากาสานัญจายตนะ วิญญาณณัญจายตนะ อากิญจิญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่ใช่ โลกนี้ก็ไม่ใช่ โลกอื่นก็ไม่ใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็ไม่ใช่ อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายอายตนะนั้นเราไม่กล่าวเลยว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งมั่น เป็นการจุติ เป็นการเกิด อายตนะนั้นหาที่ตั้งที่อาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นั่นคือที่สุดแห่งทุกข์ (25/207)  ตามนัยแห่งพระพุทธพจน์นี้ จะเห็นได้ว่า นิพพานเป็นอาตยะอย่างหนึ่ง คือเป็นธัมมายตนะ ด้วยเป็นธรรมารมย์ เป็นที่ยึดหน่วงของจิต ขณะที่ได้บรรลุโคตรภูญาณแล้วเท่านั้น เพราะผู้บรรลุญาณนี้ เป็นผู้มีใจสะอาด สงบและสว่าง จะพ้นภาวะแห่งปุถุชนแล้วและอายตนะ คือ นิพพานนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยไม่มีการเกิด ไม่มีสิ่งใดหรือใครสร้าง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
                อัตถิ ภิกขะเว อชาตัง อภูตัง อะกะตัง อสังขะตัง (25/207)  ภิกษุทั้งหลาย อายตนะที่ไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้วมีอยู่อนึ่ง พึงทราบว่า การกล่าวว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีในนิพพาน ส่องความว่า นิพพานมิใช่รูปขันธ์  การกล่าวว่านิพพานมิใช่อากาสานัญจายตนะ เป็นต้นนั้น ส่องความว่า นิพพานมิใช่นามขันธ์ นิพพาน  จึงเป็นขันธวิมุตติ
                การกล่าวว่า นิพพานมิใช่โลกนี้ และมิใช่โลกอื่น หรือมิใช่ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั้น ส่องความว่า นิพพานนั้นมิใช่โลกอย่างใดอย่างหนึ่งในโหราศาสตร์หรือดาราศาสตร์  การกล่าวปฏิเสธการมาการไปเป็นต้น ส่องความว่านิพพานนั้นไม่มีการสัมพันธ์กับโลกอื่น ด้วยไปมาถึงกันโดยอาการปกติก็ดี ด้วยการเวียนเกิดในสงสารก็ดี   การกล่าวว่านิพพานนั้น หาที่อาศัยมิได้เป็นต้น ส่องความว่านิพพานนั้นมิใช่เป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งในไตรภพ   นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติพิเศษชนิดหนึ่ง
                ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าธรรมชาตินั้นสงบแล้ว ธรรมชาตินั้นประณีต กล่าวคือธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดออกซึ่งอุปทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด
                ภาวะผู้บรรลุนิพพาน
                ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดวิปัสสนาญาณแก่กล้า ได้บรรลุอริยมรรคญาณ อริยผลญาณ   สำเร็จเป็นองค์พระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ นับว่าได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน
                พึงเข้าใจว่า พระอรหันต์นั้น แม้ท่านจะได้บรรลุหรือเข้าถึงนิพพานแล้ว แต่ท่านก็มิได้เข้านิพพานดับสนิทตลอดเวลา หรือมิใช่ว่าท่านจะยึดหน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์ตลอดไปทุกเวลานาที แท้จริง ท่านจะเข้านิพพานเพียงชั่วระยะเวลาที่บรรลุอริยมรรคญาณ อริยผลญาณ และในขณะที่เข้าผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติเท่านั้น  ในเวลาปกติที่มิได้เข้าสมาบัติ จิตของพระอรหันต์ก็มีอารมณ์เป็นโลกิยะ คือมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ อย่างเดียวกับชาวโลกทั่วไป
                แต่พระอรหันต์ท่านรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น ท่านไม่มีความยินดียินร้ายในอารมณ์เหล่านั้น แม้จะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ผ่านเข้ามา ท่านจะกำหนดรู้ได้ทันทีว่ามีอารมณ์ชนิดใดผ่านมา และรู้สึกเพียงว่า เห็นก็สักว่าเห็น หรือได้ยินก็สักว่าได้ยินเท่านั้น หาได้มี โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในขณะสัมผัสอารมณ์เหล่านั้นไม่ หาได้ติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นไม่
                แม้อายตนะภายในของพระอรหันต์จะยังรับอารมณ์ที่เป็นโลกียะอยู่อย่างชาวโลกทั่วไป แต่ไม่รับด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ดังนั้นขันธ์ของพระอรหันต์ทั้งส่วนที่เป็นรูปขันธ์และนามขันธ์จึงเป็นขันธ์บริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิขันธ์
                เมื่ออิฏฐารมณ์เกิดขึ้น เช่น ได้เห็นรูปที่สวยๆ ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้ดมกลิ่นที่หมอๆ ได้ลิ้มรสที่อร่อย ได้สัมผัสกับสิ่งสัมผัสที่เป็นสุข และได้คิดสิ่งที่ดีงามด้วยใจ พระอรหันต์ก็กำหนดรู้ทันตามสมมติของโลก เมื่อชาวโลกสมมติว่าดีว่างามเป็นต้น ท่านก็จะรับรู้ตามนั้น แต่ไม่ติดอยู่ในสมมตินั้น พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งใดที่ชาวโลกนิยมว่าสวยว่างาม เป็นต้น พระอรหันต์ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นสวยงามตามสมมตินั้น แต่ท่านมิได้ตกอยู่ในความสวยงามนั้น เพราะท่านตัดกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว
                ในการบริโภคอาหารและการพักผ่อนหลับนอนก็เช่นเดียวกัน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังต้องบริโภคอาหาร ยังต้องพักผ่อนหลับนอนเช่นเดียวกับชาวโลกทั่วไป แต่ท่านมิได้บริโภคอาหารด้วยอำนาจตัณหา มิได้พักผ่อนหลับนอนด้วยอำนาจถีนมิทธะอันเป็นอกุศลธรรม ท่านบริโภคอาหารและพักผ่อนหลับนอนความต้องการของร่างกายเท่านั้น เหมือนรถที่ต้องการเติมน้ำมันและต้องการพักเครื่องเท่านั้น
                อนึ่ง ในการบริโภคอาหารนั้น สำหรับคนทั่วไปย่อมมีความต้องการบริโภคด้วยเหตุ 2 ประการ
                        - ด้วยความหิวหรือความแสบท้อง ซึ่งเป็นความต้องการของร่างกาย
                       -  ด้วยความอยากรับประทานอาหารที่อร่อยถูกปากถูกใจ ซึ่งเป็นความอยากที่เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา
                แม้ในการบริโภคอาหารด้วยความหิว คนที่มีกิเลสตัณหาอยู่ ก็อาจบริโภคด้วยกิเลสตัณหาได้ เพราะเมื่อความหิวเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ก็อาจเกิดขึ้นโลภะ บริโภคมากเกินไปจุเกินไป หรือเมื่อหาอาหารบริโภคไม่ได้ทันใจ หรือไม่ถูกใจก็เกิดโทสะ หรือเมื่อได้บริโภคอาหารที่ถูกปากถูกใจ ก็อาจหลงติดอยู่ในรสอาหารนั้นด้วย ดังนั้น คนที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ จึงมักบริโภคอาหารด้วยกิเลสตัณหา ส่วนพระอรหันต์ท่านบริโภคอาหารด้วยความหิว ซึ่งเป็นความต้องการของร่ายกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งความหิวที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถครอบงำจิตใจท่านได้ เพราะจิตใจท่านบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา และท่านมีสติกำหนดรู้เท่าทันความหิวที่เกิดขึ้นนั้น
                ในการพักผ่อนหลับนอนก็เช่นเดียวกัน สำหรับคนที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่นั้น ย่อมต้องการพักผ่อนหลับนอนด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ด้วยความต้องการของร่างกาย ด้วยมีความเหน็ดเหนื่อย 1 ด้วยอำนาจกิเลสหรืออกุศลธรรม คือ ถีนมิทธะครอบงำจิต 1 ซึ่งการพักผ่อนหลับนอนด้วยเหตุประการหลังนี้ เป็นการพักผ่อนหลับนอนอย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ บางครั้งก็นอนหลับไม่สนิท กล่าวคือ เมื่อถูกถีนมิทธะครอบงำแล้ว ทั้งๆที่ร่างกายไม่เหน็ดเหนื่อยก็จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนแล้วหลับไป บางที่ก็นั่งสัปปะหงก บางครั้งก็ทำให้เกิดฝันร้ายต่างๆ เพราะตนเองยังละสัญญาวิปลาสไม่ได้เป็นเหตุให้นอนหลับไม่สนิท ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่
                ส่วนพระอรหันต์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านพักผ่อนหลับนอนด้วยความต้องการของร่างกายเพียวอย่างเดียวเท่านั้น หาได้พักผ่อนหลับนอนด้วยกิเลสหรืออกุศลธรรมไม่ เพราะอกุศลธรรมคือถีนมิทธะนั้น ท่านละได้เด็ดขาดแล้ว และในขณะที่ท่านพักผ่อนหลับนอนด้วยความต้องการของร่างกายนั้น ภวังคจิตย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของร่างกาย เหมือนดอกบัวที่บานแล้วถึงคราวหุบไปฉะนั้นและโดยเหตุที่พระอรหันต์เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์แล้ว ละสัญญาวิปลาสได้แล้ว จึงไม่มีการฝัน ไม่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้ายด้วยประการทั้งปวง
                ในการเจ็บไข้ได้ป่วยก็เช่นเดียวกัน สำหรับปุถุชนทั่วไปนั้น เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น ย่อมได้รับทุกขเวทนาทั้ง 2 สถาน คือ ทุกขเวทนาทางกายและทุกขเวทนาทางใจ ส่วนพระอรหันต์นั้น ท่านมีแต่ทุกขเวทนาทางกายเท่านั้น หาได้มีทุกขเวทนาทางใจไม่ เพราะมีสติกำหนดเท่าทันเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกขเวทนาจึงครอบจิตใจท่านไม่ได้
                สำหรับพระอรหันต์ที่ได้ดับเบญจขันธ์ไปแล้วนั้น ย่อมมีโอกาสได้เสวยความสุขในพระนิพพานอันเป็นบรมสุข เป็นสันติสุขอย่างแท้จริง เป็นความสุขที่ยอดยิ่ง ด้วยเป็นผู้ข้ามพ้นจากโอฆสงสาร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ พ้นจากกิเลสและกองทุกข์โดยสิ้นเชิง มีแต่ความเกษมสุขเป็นนิรันดร
                ผู้ที่สามารถทำพระนิพพานให้แจ้ง ได้แก่
                    1.พระอริยบุคคล คือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระอริยบุคคลทุกองค์จะสามารถเห็น พระนิพพานเป็นที่อยู่ในตัวได้อย่างแจ้งชัด และเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่จะเข้าไปเสวยสุขอยู่ในนิพพานได้หลังจากดับขันธ์ไปแล้ว
                    2.โคตรภูบุคคล หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนแก่กล้า ชำนิชำนาญ ก็สามารถเห็น (รู้) พระนิพพานได้
                    3.ปุถุชน หมายถึง ผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ถ้ามีการปฏิบัติธรรมจนแก่กล้าเป็นโคตรภูบุคคลได้ก็สามารถเห็นพระนิพพานได้
                วิธีทำพระนิพพานให้แจ้ง มีวิธีเดียวเท่านั้น  คือ การปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสมถกรรมและวิปัสสนากรรมฐานหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวล้วนๆ